โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา น่าน ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือกับสถาบันปิดทองหลังพระฯ ประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมกันสืบสาน ต่อยอด การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน | กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา น่าน ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือกับสถาบันปิดทองหลังพระฯ ประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมกันสืบสาน ต่อยอด การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 8 พฤศจิกายน 2565 โดย สกนธ์ เรืองฉาย จำนวนผู้เข้าชม 3272 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

     วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2565 ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน , ผู้แทนสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน , สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดน่าน , สำนักงานพาณิชย์จังหวัดน่าน , องค์การบริหารส่วนตำบลศรีภูมิ , องค์การบริหารส่วนตำบลตาลชุม , องค์การบริหารส่วนตำบลขุนน่าน , เทศบาลตำบลยอด , องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน , ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน โดย ผศ.ดร.วิโรจน์ มงคลเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีน่าน ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการสืบสาน ต่อยอด พื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ จังหวัดน่าน ณ ลานวัฒนธรรมข่วงน้อย อำเภอเมืองน่าน

     ปิดทองหลังพระฯ เริ่มเข้ามาตั้งต้นพัฒนาในพื้นที่ตันแบบจังหวัดน่าน ตั้งแต่ปี 2552 โดยทดลอง ทดสอบ วิจัย ค้นหา และเปลี่ยนมายเซ็ตของชาวบ้านในพื้นที่ ให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของการพัฒนา เพื่อสร้างอาชีพ รายได้ และโอกาส โดยเฉพาะการทำการเกษตรยั่งยืน ควบคู่กับฟื้นฟู ปรับปรุงต้นน้ำ ที่เคยขาดแคลน และเต็มไปด้วยสารพิษจากสารเคมี

     ในที่สุดพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาของจังหวัดน่าน ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น วัดได้ด้วยตัวเลขปัจจุบัน ดังนี้
     1. เพิ่มพื้นที่รับน้ำได้ 120,214 ไร่
     2. เพิ่มพื้นที่ป่า 209,970 ไร่
     3. รายได้ภาคการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยครัวเรือนละ 41,359 บาทต่อปี เป็น 92,645 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 เท่า
     4. ชาวน่านได้รับประโยชน์สูงถึง 35,735 ครัวเรือน

     แต่อย่างไรก็ดีการพัฒนากำลังเกิดความท้าทายใหม่ กับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนไปด้วยปัจจัยแวดล้อม โดย นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ยอมรับว่า ยุคของการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบน่านกำลังเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง หลังจากบริบทเปลี่ยนไป ทำให้ปิดทองหลังพระฯ ต้องวางแผนในการสร้างความยั่งยืน “13 ปีที่แล้ว ชาวบ้านไม่มีทางเลือก แต่ตอนนี้เมื่อการพัฒนาทำอย่างต่อเนื่องและเกิดผลสำเร็จออกมาที่สามารถวัดได้ ชาวบ้านก็มีทางเลือกในการสร้างโอกาสเรื่องการหารายได้มากขึ้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะปิดทองหลังพระฯ เองจะต้องเร่งสร้างชาวบ้านสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยมีปิดทองเป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้างหลัง” นายชาติชาย ระบุ

     ด้าน นายวีรเทพ พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า ในการต่อยอดการพัฒนาจังหวัดน่าน ให้สามารถโตได้อย่างยั่งยืนบนขาของตัวเอง ล่าสุด ปิดทองหลังพระฯ ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ต่อยอดพื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน ซึ่งได้ทำมานานกว่า 13 ปี ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาในระยะต่อไป

     สำหรับสาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ทุกภาคีการพัฒนาทั้งหมดตกลงที่จะเชื่อมโยงแผนชุมชนที่มีการจัดทำขึ้นก่อนหน้านี้เข้าสู่ระบบราชการปกติ โดยมีงบประมาณจากทั้งราชการส่วนท้องที่และท้องถิ่น เพื่อต่อยอดการพัฒนา โดยปิดทองหลังพระฯ จะยังคงให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้เทคโนโลยี และให้คำปรึกษาต่อไป

     ตัวอย่างของความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น 
     1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน จะนำงานวิจัย วิชาการ และนวัตกรรม มาพัฒนาการผลิต การแปรรูป เพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับราษฎรในหมู่บ้าน
     2. หน่วยงานจังหวัดน่าน อำเภอท่าวังผา สองแคว และเฉลิมพระเกียรติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสนับสนุนหมู่บ้านต้นแบบจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านและบรรจุแผนพัฒนาหมู่บ้านในส่วนที่เกินศักยภาพของหมู่บ้าน ไว้ในแผนพัฒนาตำบล อำเภอ จังหวัด และแผนของอปท. ทุกปี เพื่อให้มีงบประมาณและทรัพยากรสำหรับดำเนินการตามแผน 
     3. สำนักงานเกษตรฯ สนับสนุนด้านการพัฒนาอาชีพการเกษตร ส่งเสริมพืชทางเลือกที่มีตลาดรองรับ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูปการตลาด การจัดการกลุ่มเกษตรกร ทั้งรูปแบบแปลงใหญ่และเกษตรอัจฉริยะ และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต
     4. สำนักงานตรวจบัญชีฯ เสริมสร้างองค์ความรู้ในการจัดทำบัญชีครัวเรือน บัญชี ต้นทุนอาชีพ ให้แก่วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และเกษตรกร สนับสนุนการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี บริหารจัดการเงินของครัวเรือนและของกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันทางการเงิน บริหารการเงินของกลุ่มและครัวเรือนได้อย่างโปร่งใส 
     5. สำนักงานพาณิชย์ฯ สนับสนุนการกระจายผลิตภัณฑ์ชุมชนไปสู่ตลาดในช่องทางหลากหลาย ผลักดันผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านตันแบบที่มีอัตลักษณ์ เพื่อขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พัฒนาคุณภาพการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เข้าสู่การใช้ตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์จังหวัดน่าน (Nan Brand) 

ขอบคุณภาพ(บางส่วน) : ที่นี่เมืองน่าน
ขอบคุณข่าวจากเว็บไซต์ :
https://www.thansettakij.com/business/546168
https://www.prachachat.net/general/news-1109824
https://www.thethaipress.com/2022/79391







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา