เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 19 กันยายน 2565 โดย สกนธ์ เรืองฉาย จำนวนผู้เข้าชม 3395 คน
วันที่ 19 กันยายน 2565 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จตุฤทธิ์ ทองปรอน ตำแหน่ง รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผู้มีอำนาจผูกพันในนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มอบหมายให้รองศาสตราจารย์ ดร. สุนทร วิทยาคุณ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา เป็นผู้ร่วมลงนาม กับ บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด โดย นายศิวพงศ์ เลื่อนราม ประธานกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
โดยทั้งสองฝ่ายมีความประสงค์จะดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบในสถาบันการศึกษา เพื่อจัดสร้างฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนในสาขาสัตวศาสตร์และประมง ทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการผลิตปศุสัตว์และประมง และบริการวิชาการสู่ชุมชน
บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด เป็นภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการรีไซเคิลขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การนำวัตถุดิบชีวมวล วัตถุดิบผลพลอยได้ทางการเกษตรแปรรูปประยุกต์เพื่อใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ และเพื่อเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงด้วยนวัตกรรม “เครื่องแปลงเศษอาหารและเศษวัชพืชด้วยจุลินทรีย์ภายใน 24 ชั่วโมง” ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน ต้องการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ (Research and Innovation Development for Livestock and Fisheries Farm Prototype Project) ชื่อย่อ โครงการ RAID for LFP เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เชิงอุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์และประมง ที่มีการวิจัยเป็นฐานต่อยอดสู่การผลิต การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมช่วยในการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์และประมง การพัฒนาจัดการเรียนการสอนนักศึกษา เพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะธุรกิจปศุสัตว์และประมงแก่นักศึกษา การพัฒนาเกษตรกร ตลอดจนผู้สนใจในอาชีพการทำปศุสัตว์และประมง ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ มีรายได้เพียงพอ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ส่งผลกระทบต่อชุมชนให้มีความมั่นคงทางอาหาร เกิดความมั่งคั่งและยั่งยืน นำไปสู่การลดการใช้พื้นที่ทำการเกษตรเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ขยายผลสู่การออกแบบมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพสีเขียวบนฐานนวัตกรรม (Bio-circular green economy หรือ BCG economy) ให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Zero waste) และมีเป้าหมายขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่อุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์และประมงของประเทศสู่ความยั่งยืน (Sustainable development goal หรือ SDG) ต่อไป
การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กับ บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด ในครั้งนี้ มีผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุนทร วิทยาคุณ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร , รองศาสตราจารย์ ดร.เกชา คูหา รองคณบดีฯ , นางนราพร จันทร์พิบูลย์ ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรน่าน , หัวหน้าสาขา , หัวหน้าหลักสูตร , คณาจารย์ นักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ตลอดจนตัวแทนจากหน่วยงานราชการ คือ นางวริญญา นรินทร์ ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ตัวแทนจากหน่วยงานภาคเอกชน คือ นายสรรเพชญ์ ปุละ หัวหน้าสำนักงานน่าน บริษัทไฟฟ้าหงสาจำกัด รวมถึงสื่อมาลชนทุกแขนงในจังหวัดน่าน ร่วมเป็นสักขีพยานการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา